ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในระดับสูงที่ดำรงอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ได้กลายเป็นแรงจูงใจสำคัญของชนชั้นปกครองเก่า ที่ต่อต้านระบอบการปกครองใหม่แบบประชาธิปไตย เนื่องจากหากยอมให้ระบอบนี้ลงหลักปักฐานได้สำเร็จแล้ว ฝ่ายตนจะต้องยอมรับการกระจายทรัพยากรให้แก่ชนส่วนใหญ่ของสังคมมากเกินกว่าที่ตนจะยอมรับได้...
การรวมศูนย์อำนาจทางการเมืองไว้ที่ชนชั้นปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คือกลไกสำคัญที่เอื้อให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาด ส่งผลให้ชนชั้นปกครองสามารถสะสมความมั่งคั่งในทรัพย์สินได้เพิ่มขึ้น และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างชนชั้นก็เพิ่มขึ้นตาม สภาพเช่นนี้ดำรงอยู่จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติ 2475 คณะราษฎรหรือชนชั้นปกครองใหม่ได้พยายามสร้างระบอบประชาธิปไตยขึ้นมา ในขณะเดียวกัน ก็ได้นำสยามออกจากสภาพ "ทำนาบนหลังคน" ด้วยการปฏิรูประบบเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ โดยเริ่มกระจายทรัพย์สินที่เคยกระจุกตัวอยู่ในมือชนชั้นปกครองเก่าออกไปสู่มือราษฎร เมื่อมีผู้ได้ผลประโยชน์ ก็ย่อมมีผู้สูญเสียผลประโยชน์ และการทวงคืนผลประโยชน์ก็จะตามมา...
"ทุน วัง คลัง (ศักดิ) นา : สมรภูมิเศรษฐกิจการเมืองไทย กับประชาธิปไตยที่ไม่ลงหลักปักฐาน" เล่มนี้ จะชวนผู้อ่านย้อนกลับไปขุดรากประวัติศาสตร์ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมิติทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์กับการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างชนชั้นปกครองเก่ากับชนชั้นปกครองใหม่ ซึ่งจะส่งผลต่อการลงหลักปักฐานของระบอบประชาธิปไตยในระยะยาว
MARC Information